ในยุคปัจจุบัน รถยนต์เข้ามามีบทบาทและกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินทางประหยัดเวลา และช่วยทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้น รถยนต์แต่ละประเภทแม้จะมีระบบที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หลายประการ เช่น มี ๔ ล้อ มีท่อไอเสีย มีเครื่องยนต์ มีตัวถัง มีคนขับ มีเบรก เป็นต้น
พระพุทธศาสนาได้เปรียบเทียบร่างกายคนเหมือนรถยนต์ โดยมีส่วนที่คล้ายคลึงกันดังนี้
๑. รถยนต์มีล้อ ๔ ล้อ ร่างกายมี ๔ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ถ้าขาดอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่งก็เหมือนกับรถยนต์ยางแตก วิ่งไปไหนไม่ได้จนกว่าจะซ่อมทำให้ดีเสียก่อน
๒. รถยนต์มีท่อไอเสีย ร่างกายมีท่อหรือทวาร ๙ คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ๒ รู ปาก ๑ ปาก และมีทวารเบาทวารหนัก ท่อหรือทวารเหล่านี้เป็นที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายประดุจท่อไอเสียของ รถยนต์
๓. รถยนต์ต้องมีตัวถังและเครื่องยนต์ประกอบรวมตัวกันเข้าเป็นรถยนต์ ส่วนคนก็ต้องประกอบด้วยกายและจิตใจรวมตัวเป็นคน
๔. รถยนต์ต้องมีคนขับเป็นผู้ควบคุม ส่วนคนต้องมีสติเป็นตัวควบคุม
รถยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ต้องกินเนื้อที่ ต้องซื้อหา และมีคุณค่าต่อชีวิตก็เพียงขับไปถึงจุดหมายเท่านั้น ส่วนรถยนต์คือร่างกายที่เรียกว่า สรีรยนต์ นี้ จัดเป็นรถยนต์วิเศษไม่กินเนื้อที่มากทั้งยังไม่ต้องเสียเงินทองซื้อหา สามารถขับขี่ไปได้ทุกหนทุกแห่ง คือ นอกจากขับอยู่ในโลกมนุษย์แล้ว เครื่องยนต์คือจิตสามารถพาไปเทวโลก พรหมโลกได้ด้วย และถ้าฝึกขับให้ดี โดยวิธีการที่ถูกต้องก็สามารถขับไปถึงพระนิพพานได้ในที่สุด (ที่มา : ยศ.ทร.)