วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมตตามหานิยม

เมื่อพูดถึงคำว่า "เมตตามหานิยม" ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงวัตถุมงคลที่ผู้ใดได้ครอบครองแล้ว จะส่งผลให้มีคนรักคนหลงนิยมยกย่องจึงพากันแสวงหาวัตถุมงคลที่เชื่อว่าจะส่ง ผลให้เป็นที่นิยมยกย่องของ ผู้คนโดยทั่วไป โดยลืมความหมายที่แท้จริงของเมตตามหานิยมว่าแท้ที่จริงแล้วคำว่า "เมตตามหานิยม" คือ การทำให้ประชาชนนิยมชมชอบ ด้วยการประพฤติตนอยู่ในหลักเมตตาธรรมในทางศาสนานั่นเองในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนที่เกี่ยวกับเมตตามหานิยมอยู่หลายประการ แต่มีความหมายแตกต่างกัน อีกทั้งมีขอบเขตกว้างขวางกว่าเมตตามหานิยมตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน โดยมีหลักคำสอนว่าการที่จะให้ใคร ๆ นิยมชมชอบนั้นจะต้องประกอบด้วย
       - รู้เสียสละ เกื้อกูลกันด้วยวัตถุสิ่งของ ด้วยคำแนะนำปฏิบัติตนให้เป็นเพื่อนบ้านที่น่าไว้วางใจและเป็นที่พึ่งได้ในคราวทุกข์ยาก
       - การมีจิตเมตตาต่อกัน พูดจาปราศรัยกันด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน มีประโยชน์ ถูกกาลเทศะ ไม่ประทุษร้าย ไม่ให้ร้ายกันด้วยวาจา
       - มีจิตอาสา ประพฤติแต่สิ่งที่มีประโยชน์แก่คนอื่น โดยไม่มุ่งเน้นประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง
       - ความเสมอต้นเสมอปลาย คือ การประพฤติธรรมะ ๓ ข้อข้างต้นให้สม่ำเสมอ ประพฤติให้เป็นปกตินิสัย มีจำกัดอยู่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
         พุทธศาสนามองว่า เมื่อคนเราได้ปฏิบัติตามหลักการสี่ข้อข้างต้นนี้แล้ว คนในสังคมก็จะเกิดความรัก ความเอ็นดูเกื้อกูลพูดจากันด้วยความรัก รู้จักประสานประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและคนอื่นอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จะก่อให้เกิดกระบวนการที่ทำให้คนในสังคมเป็นสุขอย่างยั่งยืนเข้าลักษณะของ "เมตตามหานิยม" โดยไม่ต้องพึงพาวัตถุนิยมแบบใดๆ ในโลกอีกเลย (ที่มา : พร.)