วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ๓ ลำ ลงน้ำ ณ อู่เรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด สมุทรปราการ

วันนี้ (๘ มีนาคม ๒๕๕๖) เวลา ๑๐.๐๙ น. พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ชายฝั่งลงน้ำ จำนวน ๓ ลำ ประกอบด้วย เรือ ต.๒๒๘ เรือ ต.๒๒๙ และ เรือ ต.๒๓๐ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และ นางพรจิตร์ หรุ่นเริงรมย์ ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือและนายกสมาคมภริยาทหารเรือ ประกอบพิธีเจิมเรือและเป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ
       กองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (ตกช.) จำนวน ๓ ลำ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเดิมที่ใช้ราชการมาเป็นเวลานาน และมีกำหนดที่จะปลดระวาง โดยว่าจ้าง บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการต่อเรือ ซึ่งการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้สำเร็จเรียบร้อย โดยหลังจากนี้จะเป็นการทดสอบระบบต่าง ๆ ในทะเลก่อนที่ส่งมอบให้กองทัพเรือเพื่อขึ้นระวางประจำการต่อไป โดยสังกัด กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ทั้ง ๓ ลำ นี้ มีภารกิจเพื่อตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่งคุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเล ในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
        คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง มีความยาวตลอดลำ ๒๑.๔๐ เมตร ความกว้างสูงสุด ๕.๕๖ เมตร ความลึกของเรือ ๓.๑๕ เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ ๑.๐๕ เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า ๓๐ นอต ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๓๕๐ ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ (๑๕ นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ มีกำลังพลประจำเรือตามอัตรา ๙ นาย
        พิธีปล่อยเรือลงน้ำถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญสำหรับชาวเรือทั่วโลก มีมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ในสมัยปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แบบสากล ให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี โดยวิธีปล่อยขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ สืบเนื่องมาจากการดื่มอวยพรด้วยถ้วยเงินเมื่อดื่มแล้วก็ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดกับหัวเรือแทน คราวหนึ่งสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือแต่กลับไปถูกผู้ที่มาในงานพิธีบาดเจ็บจึงได้ใช้เชือกผู้คอขวดเสียก่อนเสมอจนถึงปัจจุบันนี้ 
        สำหรับการที่ต้องปล่อยเรือโดยการเอาท้ายเรือลงน้ำนั้น ก็เนื่องจากท้ายเรือป้านมีกำลังลอยมากกว่าทางหัวเรือซึ่งแหลม ถ้าเอาหัวเรือลงอาจทำให้น้ำเข้าและจมได้ อีกประการหนึ่งหัวเรือแหลมเมื่อเคลื่อนลงน้ำแล้วด้วยน้ำหนักตัวของมัน จะมีแรงเคลื่อน พุ่งไปข้างหน้าไกลหรือกำลังแรง ลำบากในการยึดเหนี่ยว การเอาท้ายเรือลงจึงสะดวกกว่า (ที่มา : สยป.ทร.)