วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแนะวิธีง่ายๆ หากต้องดูแลเต่าทะเลบาดเจ็บ-เกยตื้น

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแนะวิธีง่ายๆ หากต้องดูแลเต่าทะเลบาดเจ็บ-เกยตื้น
        กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ติดตามสถานการณ์เต่าทะเลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พบว่า เต่าทะเลมีปริมาณลดลงจนถึงจุดวิกฤต เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งการกระทำโดยเจตนาและอุบัติเหตุ เช่น การวางอวน การลักลอบขุด ไข่เต่าทะเล มลภาวะและการสูญเสียแหล่งวางไข่ จึงขอแนะนำแนวทางการจัดการเต่าทะเลบาดเจ็บเกยตื้นเพื่อให้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยว สามารถดูแล รักษาเต่าทะเลในเบื้องต้นได้ เมื่อต้องพบกับสถานการณ์ดังกล่าว หากไม่สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ โดยแบ่งตามลักษณะการพบได้ ๒ กรณีดังนี้
- เต่าทะเลที่ติดเครื่องมือประมง ถ้าไม่พบบาดแผลภายนอกใด ๆ แต่มีอาการซึมหรืออ่อนแรงแนะนำให้ปล่อยลงทะเลในบริเวณที่พบทันที หรือนำไปรักษาพยาบาลในสถานที่ที่เหมาะสม แต่ถ้าพบมีบาดแผลภายนอก หากเต่ายังแข็งแรงมีอาการดิ้นขัดขืน แนะนำให้ปล่อยลงทะเลในบริเวณที่พบทันที
- เต่าทะเลที่พบเกยตื้นบนชายหาด แนะนำให้นำมารักษาพยาบาลในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะมักเป็นเต่าที่ป่วยหรือบาดเจ็บมากจนไม่สามารถว่ายน้ำได้เองแล้ว จำเป็นต้องทำการช่วยเหลือ
กรณีเต่าทะเลกินเบ็ด ถ้าเบ็ดอยู่ตื้นหรืออยู่ภายในช่องปาก สามารถมองเห็นตัวเบ็ดได้จากภายนอกให้ดันปลายเบ็ดที่มีเงี่ยงแหลมให้ทะลุผนังแก้มของเต่าออกมาแล้ว จึงใช้คีมตัดปลายที่มีเงี่ยงนั้นออก (ระวังถูกเต่ากัด) แล้วจึงดึงเบ็ดออกจากปากและปล่อยเต่ากลับสู่ทะเล
หากเต่าทะเลกินเบ็ด ถ้าเบ็ดอยู่ลึกลงไปในลำคอ การนำเบ็ดที่อยู่ลึกในตัวเต่าทะเลออกจำเป็นต้องมีการผ่าตัดและวางยาสลบ ซึ่งต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นและการขนย้ายเต่าทะเลจากพื้นที่ห่างไกลเป็นระยะทางไกล ๆ อาจทำให้สัตว์ที่บาดเจ็บอยู่เกิดอาการช๊อคจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นการจัดการที่ดี ที่สุดสำหรับตัวเต่าทะเลในกรณีนี้ คือให้ตัดสายเบ็ดให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และปล่อยเต่ากลับสู่ทะเล ตัวเบ็ดที่ค้างอยู่ในตัวเต่ามักจะเปื่อยสลายไปเองเมื่อโดนน้ำทะเลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเต่ามักจะหายเป็นปกติได้ในเวลาต่อมา (ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์)