วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ภายในบริเวณกรมอู่ทหารเรือ
   วันนี้ (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔) เวลา ๑๕.๐๐ น. พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ตามโครงการ "พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔" ณ อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (อาคารแผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ) ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
กรมอู่ทหารเรือ ได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการต่อเรือและอุตสาหกรรมอู่เรือของประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ผลงานการต่อเรือและงานช่างกรมอู่ทหารเรือที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณะและอนุรักษ์อาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามและเก่าแก่ในพื้นที่กรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงตั้งอยู่ระหว่างอู่หมายเลข ๑ และอู่หมายเลข ๒ เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงรอบอาคารประดับด้วยไม้ฉลุลายที่สวยงาม ตามหลักฐานที่ปรากฏอาคารนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมอู่ทหารเรือได้เริ่มดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ฯ จัดแบ่งพื้นที่ตามการนำเสนอออกเป็นส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจาก "ราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง" เป็นส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ก่อนจะมีการสร้างอู่เรือหลวงขึ้น ต่อเนื่องด้วย "จากอู่เรือหลวงสู่กรมอู่ทหารเรือ" เป็นส่วนอธิบายถึงความสำคัญของงานอู่เรือกับการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเลและความจำเป็นของการมีอู่เรือขนาดใหญ่ จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานนาวิกสถาปัตย์" กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการต่อเรือ การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๑ ตามแนวพระราชดำริ และการขยายผลสู่ ชุดเรือ ต.๙๙๑ และชุดเรือ ต.๙๙๔ ลำดับถัดมาคือ "การเสริมสร้างสมุททานุภาพให้กองทัพเรือ" แสดงให้เห็นถึงกระบวนการต่อเรือ วิทยาการ และเทคโนโลยีการต่อเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการปฏิบัติงานจริงของช่างระหว่างการซ่อมและต่อเรือ จากนั้นเข้าสู่ส่วนจัดแสดง "การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ" นำเสนอการต่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ การอนุรักษ์และซ่อมเรือพระราชพิธี การผสมผสานเทคโนโลยีการต่อเรือของกรมอู่ทหารเรือกับงานช่างศิลป์ของกรมศิลปากร ต่อด้วยการจัดแสดงหัวข้อ "ทำเรือให้พร้อมรบ" เป็นกระบวนการการซ่อมทำเรือรบและผลงานการซ่อมทำเรือที่สำคัญของกรมอู่ทหารเรือ ส่วนสุดท้ายเป็น "อู่เรือและอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ" แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกิจการอู่เรือ อุตสาหกรรมต่อเรือและพาณิชยนาวีของประเทศ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอธิปไตยของชาติทางทะเล
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแรกของกองทัพเรือและเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาอีกแห่งหนึ่งของประเทศที่บันทึกแห่งกาลเวลาที่สามารถเรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคตต่อไปในภายหน้า (ที่มา : อร.)