วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

๒๔ ธันวาคม วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานวิจัยและพัฒนาการ

๒๔ ธันวาคม วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ครบรอบปีที่ ๒๒
       วันนี้ (๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔) พลเรือตรี หม่อมหลวงบวรลักษณ์ กมลาศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นประธานในพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งประดิษฐานในพื้นที่ และพิธีทางศาสนา เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ณ อาคารสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ พุทธมณฑลสาย ๓ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกองทัพเรือเข้าร่วมงาน
กองทัพเรือ อนุมัติจัดตั้ง สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ และกำหนดให้วันที่ ๒๔ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา มีภารกิจหน้าที่ในการอำนวยการและเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาของกองทัพเรือ ซึ่งในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบปีที่ ๒๒ ของการก่อตั้ง สวพ.ทร.
ในรอบ ๒๒ ปีที่ผ่านมา สวพ.ทร.ได้ทำหน้าที่บริหารและดำเนินการวิจัยจนมีผลงานวิจัยที่สนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ตลอดจนแก้ปัญหาสำคัญของกองทัพเรือกว่า ๑๘๐ โครงการ โดยโครงการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้หลายโครงการได้รับการรับรองมาตรฐาน จากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ และส่วนใหญ่ยังคงใช้งานได้ดีจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กองทัพเรือสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนของการจัดหายุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก และประการสำคัญคือ การที่บุคลากรของกองทัพเรือได้องค์ความรู้ที่จะสามารถสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ไว้ใช้งานได้เอง รวมทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่น ๆ ได้ด้วย นับเป็นการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แต่ละปีจะมีงานวิจัยที่ สวพ.ทร.บริหารจัดการกว่า ๔๐ โครงการ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ใช้ทุนวิจัยทั้งจากภายในและภายนอกกองทัพเรือ เป็นโครงการวิจัยทั้งด้านหลักการและยุทโธปกรณ์จนสร้างสรรค์ยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้งานตามความต้องการของกองทัพ
ปัจจุบัน สวพ.ทร. ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือ โดยได้มีการวิเคราะห์หาเทคโนโลยีหลักที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือได้ ๑๖ กลุ่มเทคโนโลยี อาทิ ด้านการต่อเรือและซ่อมเรือ ด้านการสื่อสารระยะไกล ด้านหุ่นยนต์ ด้านพลังงานทดแทน ด้านอาวุธความแม่นยำสูง ด้านข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น พร้อมทั้งได้กำหนดหน่วยรับผิดชอบหลักในการพัฒนาขีดความสามารถในแต่ละเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินงาน และ สวพ.ทร.มีความเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติตามแผนแม่บทจะทำให้การวิจัยและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายที่เด่นชัด สามารถบริหารจัดการงานวิจัยได้อย่างเป็นระบบ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกองทัพเรือ
การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการวิจัยเป็นเครื่องมือ เพื่อเสริมสร้างกองทัพเรือให้มีศักยภาพด้านการทหารนั้นมิใช่การทำให้กองทัพเรือต้องพึ่งพาอาศัยยุทโธปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัยจนความสำคัญของบุคลากรด้อยลงไป เหล็กในคนยังคงสำคัญกว่าเหล็กในเรือ แต่เหล็กในคนจะดำรงความสำคัญอยู่ได้ จะต้องเป็นเหล็กในคนที่มีความรู้ สามารถใช้ยุทโธปกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ หลักนิยม รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการในการใช้กำลังได้อย่างต่อเนื่อง ทันเวลา ซึ่งความสามารถเหล่านี้จะได้มาจากการวิจัยที่มีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่มีทิศทาง และเป้าหมายที่เด่นชัด จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้กองทัพเรือสามารถดำรงความเป็นกองทัพที่ทันสมัยและเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศได้ (ที่มา : สวพ.ทร.)