วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

กองทัพเรือ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาร่างยุทธศาตร์ความมั่นคงทางทะเล

กองทัพเรือ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาร่างยุทธศาตร์ความมั่นคงทางทะเล
       เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเรือ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล" (๒๕๕๔ - ๒๕๕๙) เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ ฯ ให้มีความครอบคลุม และครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติต่อไป
       สำหรับเป้าหมายในการป้องกันและรักษาอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และสิทธิอธิปไตยทางทะเลคุ้มครองรวมถึงรักษาชีวิต สิทธิและทรัพย์สินของประชาชน สร้างความสงบเรียบร้อยในการดำเนินกิจกรรมทางทะเลของทุกภาคส่วน ในการปกป้องรักษาและฟื้นฟู ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล สร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากร สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีอยู่จำนวนมหาศาล รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการดูแลความมั่นคงทางทะเลของประเทศ
       นายอนุสิษฐ์ คุณาการ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของฝั่งทะเลอันดามัน กองทัพเรือ โดย ทัพเรือภาคที่ ๓ เป็นกลไกสำคัญ ในการที่จะลงไปช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยการบูรณาการในหลาย ๆ หน่วยงาน ส่วนหน่วยงานหลักที่เข้าร่วมทำหน้าที่ดังกล่าวกับทัพเรือภาคที่ ๓ เช่น กรมเจ้าท่า กรมประมง ศุลกากร กรมทรัพยากรแห่งชาติทางทะเล เป็นต้น
       หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติ เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จะทำหน้าที่ในเรื่องของการประสานงานการปฏิบัติ ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเป็นเรื่องของความร่วมมือในเรื่องการ ประสานทางปัญญา กฎหมาย ที่มีอยู่ก็เป็นกฎหมายแต่ละหน่วย การทำหน้าที่นั้นต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากลำบากของกองทัพเรือ ฉะนั้น เอกสารหลักฉบับนี้ คือ ทำอย่างไรให้กลไกเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องมีกฎหมายเข้ามารองรับ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินโดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบประเมินสภาวะแวดล้อม ตรวจสอบความต้องการในภาคประชาชนแล้วความต้องการที่สำคัญก็คือ ให้มีโครงสร้างของการทำงาน ที่มีความชัดเจนสามารถทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้จริง และในท้ายที่สุดผลประโยชน์เหล่านี้จะสะท้อนมายังประชาชน
(ที่มา : ทรภ.๓)